“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ด้านมืดของสังคมไทยที่สะท้อนผ่านสำนวน

“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ด้านมืดของสังคมไทยที่สะท้อนผ่านสำนวน

เคยไหมที่พอเข้าไปในสถานที่ใหม่ๆ หรือได้ไปเที่ยวต่างเมืองแล้วคนที่คนรู้จักบอกว่าให้ทำตัวปกติ คนอื่นทำอะไรก็ให้ทำตามๆ กันไป จะได้อยู่ร่วมกันได้แบบไม่มีปัญหา ก็แค่ทำตามกัน ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพียงเท่านี้ก็จบแล้ว ตามสำนวน “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ที่ดูเผินๆ เหมือนว่าจะไม่มีอะไร แต่ถ้าหากคิดในด้านมืดล่ะก็ พวกคุณอาจจะได้เห็นอะไรอีกเยอะ

“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” หมายถึง

“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” สำนวนนี้ใช้เปรียบเทียบการกระทำให้เข้ากับสังคม เข้ากับสถานที่ แต่ละที่ที่ได้เข้าไปสัมผัส หรือผู้คนที่คบหาสมาคม รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับคนในแต่ละสังคมแต่ละที่ ไม่เช่นนั้นจะวางตัวลำบาก หรือไม่ได้รับการยอมรับ (อ้างอิงจาก : เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ปฏิบัติตัวให้เข้ากับสถานที่. SiamEBOOK ) ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมในการแต่งตัว การกิน การพูด การวางตัวต่างๆ

“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ในด้านปกติ

เรามาเริ่มต้นที่การตีความสำนวนไทยบทนี้ในแง่ปกติกันดีกว่า ก็ต้องยอมรับว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” เป็นสำนวนสากลที่ไม่ได้มีแค่คนไทยใช้ แต่ต่างประเทศก็ใช้เหมือนกันคือสำนวนที่ว่า “When in Rome, do as the Romans do” หรือแปลง่ายๆก็คือ ถ้าอยู่ในกรุงโรม ก็จงทำอย่างที่คนโรมันเขาทำกัน วิธีการใช้ปกติก็อาจจะเป็นเรื่องของคนเราเวลาต่างถิ่นก็มักจะทำตัวไม่ถูกเพราะต่างวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

โดยการทำตามกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ ดูจะเป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะที่ดีที่สุด เพราะโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ เมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่มแล้วมี 1 คนที่ทำตัวประหลาดออกไป พวกเขามักจะตีออกจากความแตกต่างนั้นทันที หรือไม่ก็ตีความไอ้คนคนนั้นต้องมีปัญหาแน่ๆ และหาทางหลีกเลี่ยง หนักข้อที่สุดก็คือการประจาน ทำให้อับอายหรือ Bullying ที่สมัยนี้ฮอตกัน แต่ถ้าว่าหากเราคิดในมุมกลับกัน!!

 กับด้านมืดของสำนวนไทยที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”

พวกคุณคิดว่าผมจะตีความสำนวนนี้ไปในทิศทางไหน ถ้าไม่ใช่การโกงกินบ้านเมือง และการคอรัปชันในปัจจุบัน ไม่สิ การคอรัปชันตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาที่ได้แต่ใช้วลีตามน้ำกันต่อๆ มา “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” เห็นใครทำอะไรก็จงปล่อยผ่าน มิเช่นนั้นอาจไม่มีที่ยืนในสังคม กลัวว่าจะต้องออกจากงานบ้าง กลัวว่าคนข้างหลังจะมีปัญหา กลัวว่าหน้าที่การงานจะไม่เจริญก้าวหน้า ผมไม่เคยโทษความกลัวเหล่านั้นเลย

แต่ว่าก็แค่แอบคิดว่าถ้ามีสักคนหนึ่งที่พร้อมจะพลีชีพเพื่อความยุติธรรม จะเกิดอะไรขึ้นกันนะ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” กลายเป็นวลีมืดที่สะท้อนสังคมสุดๆ ที่ถ้ามองในแง่ดีก็จะกลายเป็นคุณสมบัติในการปรับตัวที่น่าสนใจ แต่พอเอามาใช้กับเรื่องแบบนี้แล้วกลับกลายเป็นอีกความหมาย และดูท่าแล้วสังคมไทยก็คงจะ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”  กันไปอีกนานแสนนาน

ผมไม่ได้มีเจตนาจะมาหักล้างสำนวนไทยที่ดีงามตั้งแต่สมัยพระกาลหรอก ก็แค่ต้องการเสนอแนวคิดอีกมุมหนึ่งให้หลายคนได้ลองมานั่งคิดกันก็แค่นั้น โดยใช้สำนวน “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”  เป็นตัวจุดชนวนเริ่มต้น ก็ลองมาคิดกันดูกับผมเถอะว่าที่ได้อธิบายมันจริงหรรือไม่ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”  ไม่ได้แย่ ก็แค่อยู่ที่คุณว่าจะใช้มันอย่างไร

ที่มาภาพ : Global compliance solution group, idiomsthai, Tuffs University